f
title
แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 1
phetchabun 1 highway district
วิสัยทัศน์ : มุ่งพัฒนาและบำรุงรักษาทางหลวง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย ในการสัญจรของผู้ใช้ทาง
ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์
ลงวันที่ 31/05/2563

กลัวก็อป!!สั่งทช.จดสิทธิบัตรแบริเออร์-หลักกิโลยางพารา
*ครม.ไฟเขียวซื้อตรง”สหกรณ์การเกษตร”
*อุบัติเหตุตัดหน้าเหลือ0สร้างเสร็จใน7วัน
“ ศักดิ์สยาม”ระเบิดระเบ้อข้อดีโครงการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดซื้อยางพารามาใช้ในงานก่อสร้างและอำนวยความปลอดภัยทางถนน ดังนี้ 1.กระทรวงการคลังแก้ไขระเบียบพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงพ.ศ.2560

โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ตามนโยบายรัฐบาลในโครงกรส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ

2.อนุมัติให้กรมทางหลวง(ทล.)และ ทช.ปรับแผนการก่อสร้างผิวทางจากแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) เป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ในปีงบประมาณ63 ซึ่งจะทำให้เหลือเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 1,250 ล้านบาท และ ทช. 1,250 ล้านบาท ให้นำมาใช้ในโครงการจัดซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ

รวมทั้งยังเห็นชอบในหลักการให้ ทล.และ ทช.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี64 กรอบวงเงิน 39,175 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 36,401 ล้านบาท และ ทช. 2,774ล้านบาท และ ปี 65 กรอบวงเงิน 43,995 ล้านบาท แบ่งเป็น ทล. 39,934 ล้านบาท และ ทช. 4,061 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ และหลักนำทางยางธรรมชาติ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้กำชับทล.และทช.ว่าในการดำเนินโครงการจัดซื้อยางพารามาใช้ในงานก่อสร้างและอำนวยความปลอดภัยทางถนนอยู่บนหลักการที่ไม่รื้อเกาะกลางถนนหรือรื้อหลักนำทางเดิม แต่ให้ทำในส่วนที่ยังไม่มีเท่านั้น

ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เรื่องอุปกรณ์ทางด้านจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา

จากนั้นทล.และทช.จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมในการผลิต เพื่อจะได้จัดซื้อโดยตรงไม่ต้องผ่านนายหน้า อย่างไรก็ตามคงไม่ต้องจัดทำทีโออาร์ เพราะเป็นการซื้อแบบเฉพาะเจาะ ซึ่งทุกกระบวนการจะมีการตรวจสอบภายใต้มาตรฐานตามที่ ทล.และทช.กำหนด จึงมั่นใจว่ามีความโปร่งใสแน่นอน

“ขณะนี้ได้สั่งการให้ทช.ไปจดสิทธิบัตรแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ เพราะถือเป็นนวัตกรรมที่ทช.คิดค้นขึ้นมาเอง เนื่องจากไม่ต้องการเห็นใครนำไปเป็นเจ้าของแล้วในอนาคตกระทรวงคมนาคมต้องไปเสียค่าลิขสิทธิเพื่อนำมาผลิตในภายหลัง”นายศักดิ์สยาม กล่าวและว่า

กระทรวงคมนาคมจะดำเนินโครงการยางพาราในเวลา 3 ปี ซึ่งจะใช้น้ำยางกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพกับการใช้ยางและราคายางมีความมั่นคง โดยโครงการนี้จะเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในถนนทล.และทช.ที่เป็น 4 เลนขึ้นไป ที่อย่างน้อยจะทำให้อุบัติเหตุที่เกิดจากการตัดหน้า19.1% หมดไป อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างให้เร็วขึ้น8เท่า จากเดิมการทำเกาะกลางทั่วไป 1กิโลเมตร(กม.)ใช้เวลาประมาณ2- 3 เดือนจะเหลือแค่ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น

ส่วนถนนสายแรกที่จะดำเนินโครงการให้ทล.และทช.สำรวจข้อมูลโดยยึดเอาสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนทล.และทช.มาเรียงลำดับความสำคัญตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไปจนถึงปี 65 รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาวิธีการเคลือบแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น

เพราะจากการศึกษาพบว่า 3 ปียางจะกรอบเพราะถูกแดดและฝน จึงอยากให้ยืดอายุออกไปถึง 5 ปี เพื่อประหยัดงบประมาณ ตลอดจนให้ศึกษาเพิ่มเติมว่ายางหลังหมดอายุใช้งานแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่หรือต้องผสมกับอะไรจึงนำกลับมาใช้ได้

??ฝากกด like ????กด share ????เพจข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์ ด้วยนะจ๊ะ??

#ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์
#แบริเออร์ยางพารา
#ศักดิ์สยามชิดชอบ


'